เรามาศึกษาธรรมะอาทิตย์ละคำกันเถอะ
จากหนังธรรมโฆษณ์-อรรถานุกรม เล่ม๑
คำว่า “กิเลส” มีอรรถลักษณะ๒๑ข้อ ดังนี้
๑. ”กิเลส“ โดยพยัญชนะ: หมายถึงโดยตัวหนังสือหรือคำแปลตามตัวหนังสือ…
๑.๑ สิ่งที่ทำความเศร้าหมอง.
๑.๒ สิ่งที่เศร้าหมอง.
๑.๓ ของสกปรก.
๑.๔ สิ่งที่ทำความสกปรก.
๒. ”กิเลส“ โดยอรรถ: หมายถึงโดยความหมาย…
๒.๑ หมายถึง ความเศร้าหมองทางกาย ทางวาจา ได้แก่ความทุศีล ทุกชนิด.
๒.๒ หมายถึง ความเศร้าหมองทางจิตใจ ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ ทุกชนิด ทุกระดับ,
สูงสุดถึง อหังการมานานุสัย.
๓. ”กิเลส“ โดยไวพจน์: หมายถึงคำที่ใช้เรียกแทนกันได้ทั้งคำบาลีและคำภาษาไทย…
คือ มละ(มลทิน), โยคะ(เครื่องผูก), โอฆะ(เครื่องท่วมทับ), อัคคิ(เครื่องเผา) ฯลฯ
๔. ”กิเลส“ โดยองค์ประกอบ: หมายถึงปัจจัยที่ต้องมีมากกว่าหนึ่ง.และปัจจัยนั้นๆต้องทำงานร่วม
กันและพร้อมกันในเรื่องเดียวกัน…
๔.๑ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส (กาย วาจา ใจ),
๔.๒ สังขาร คือการปรุงให้เกิดกิเลส (ตามกฏอิทัปปัจจยตา),
๔.๓ ความเศร้าหมองที่เกิดขึ้น (หลายชั้น หลายระดับ),
๕. ”กิเลส“ โดยลักษณะ: หมายถึงลักษณะภายนอกที่เป็นเครื่องสังเกตหรือเครื่องกำหนดที่ทำให้รู้ว่าสิ่งนั้นๆเป็นอย่างไร
จึงเรียกว่าอย่างนั้น…
๕.๑ สกปรก เศร้าหมอง น่ารังเกียจ,
๕.๒ แห่งราคะ คือดึงเข้าหาตัว, แห่งโทสะ คือผลักออก, แห่งโมหะ คือวิ่งอยู่รอบๆ,
๕.๓ ก่อให้เกิดกรรม (เป็นกงล้อกงหนึ่งในวัฏฏะ)
๕.๔ ของบรรดาสิ่งที่เกิดมาจากความเห็นแก่ตัว,
๕.๕ เป็นได้ทั้งบวกและลบ.
๖. ”กิเลส“ โดยอาการ: หมายถึงอาการเคลื่อนไหว หรือแสดงความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ…
๖.๑ อยากได้ อยากทำลาย สงสัยติดตาม,
๖.๒ ทำให้เกิดความเศร้างหมองโดยส่วนเดียว,
๖.๓ แสดงออกมาได้ทั้งความเป็นบวกและความเป็นลบ,
๗. ”กิเลส โดยประเภท: หมายถึงการจำแนกให้เข้ากันเป็นพวกๆ ตามลักษณะอาการของสิ่งนั้นๆ…
นัยที่หนึ่ง: แบ่งตามความเป็นเหตุและผล: มีสองอย่าง:
๑.กิเลสที่เป็นเหตุ.
๒.กิเลสที่เป็นผล.
แต่อย่าลืมว่ามันเปลี่ยนตัวมันเองได้ คือ กิเลสที่เป็นผลก็กลายมาเป็นกิเลสที่เป็นเหตุได้
นัยที่สอง: แบ่งตามอาการที่แสดง: มีสามอย่าง:
๑.มีอาการดึงเข้ามาแล้วยึดครองไว้: ได้แก่กิเลสประเภทที่เรียกว่า ราคะ หรือ โลภะ
๒.มีอาการผลักออกไปหรือทำลายเสีย: ได้แก่กิเลสประเภทที่เรียกว่า โทสะ หรือโกธะ,
๓.มีอาการวนอยู่รอบๆ ด้วยความไม่รู่: ได้แก่กิเลสประเภทที่เรียกว่า โมหะ.
นัยที่สาม: แบ่งตามชั้นแห่งเวลา: มีสามอย่าง:
๑.กิเลสที่ปรากฏตัวออกมาจาเหตุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส: คือ เป็นกิเลสเฉพาะหน้าๆ; จะเรียกมันว่า กิเลส เฉยๆ.
๒.กิเลสที่เป็นความเคยชินแห่งกิเลสที่เก็บสะสมไว้ในสันดาน: ซึ่งเราจะเรียกมันว่า อนุสัย.
๓.กิเลสที่พร้อมที่จะไหลกลับออกจากคลังแห่งอนุสัย เมื่อได้โอกาสหรือปัจจัย: ซึ่งเราจะเรียกมันว่า อาสวะ.
นัยที่สี่: แบ่งตามอารมณ์ มีหกอย่าง: คือ กิเลสเกิดจากอารมณ์ทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางกาย, ทางใจ,
นอกจากนั้นยังมีทางที่จะแบ่งตามกาลเวลาและกฎ เกณฑ์อื่นๆ เป็นกิเลสหลายร้อยหลายพันชนิดก็ได้,
ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าวในที่นี้ทั้งหมด.
๘. ”กิเลส“ โดยกฎเกณฑ์: หมายถึงกฎเกณฑ์ของสิ่งนั้นๆ หรือกฎเกณฑ์เพื่อจะเข้าไปถึงสิ่งนั้นๆ
ซึ่งอาจมีได้ทั้งโดยบัญญัติและโดยธรรมชาติ…
คือ ต้องมีอารมณ์ของกิเลส, ต้องมีความขาดสติ, ต้องมีการปรุงแต่งโดยอำนาจของอวิชชา. ครั้งเกิดแล้วเป็นเหตุให้ทำกรรม.
ป้องกันได้ด้วยความมีสติ.
ตัดเสียได้ด้วยอำนาจของปัญญา. มีรากฐานอยู่บนสัญชาตญาณที่ปราศจากความรู้. เป็นคู่ปรับของโพธิ.
๙. ”กิเลส“ โดยสัจจะ: หมายถึงความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ…
๙.๑ แน่นอนที่ต้องเศร้าหมอง.
๙.๒ แน่นอนที่ต้องทำกรรม.
๙.๓ แน่นอนที่ต้องเกิดทุกข์.
๙.๔ แน่นอนที่จะต้องเป็นสมบัติของปุถุชน.
๑๐. ”กิเลส“ โดยหน้าที่:(โดยสมมติ)หมายถึงการที่สิ่งมีชีวิตจะต้องกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ…
๑๐.๑ มีหน้าที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง.
๑๐.๒ มีหน้าที่ทำให้เกิดกรรมและวิบาก เพื่อการเวียนว่ายไปในวัฏฏะ.
๑๐.๓ มีหน้าที่ทำลายสันติภาพของมนุษย์.
๑๐.๔ มีหน้าที่เป็นพลังของคนโง่.
๑๐.๕ มีหน้าที่เป็นของหอมของงามของอันธพาล.
๑๑. ”กิเลส“ โดยอุปมา:หมายถึงการเปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เข้าใจดีอยู่แล้วเพื่อให้เข้าในสิ่งนั้นๆ
ดียิ่งขึ้นจนถึงที่สุด…
เป็นเสมือนเครื่องรึงรัด. เหมือนลิ่มสลักขันยึดรถที่กำลังแล่น.
๑๒. ”กิเลส“ โดยสมุทัย: หมายถึงสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นๆ…
๑๒.๑ อารมณ์ของกิเลส, ความขาดสติในการรับอารมณ์, การปรุงแต่งของอวิชชาสามอย่างนี้เป็นสมุทัยของกิเลส.
๑๒.๒ สัญชาติญาณที่ไม่มีส่วนแห่งโพธิ มีแต่ส่วนแห่งกิเลส.
๑๒.๓ รชนียธรรม ทั้งปวง.
๑๓. ”กิเลส“ โดยอัตถังคมะ: หมายถึงความดับของสิ่งนั้นๆ. คือความตั้งอยู่ไม่ได้ชั่วคราว หรือตลอดไปของสิ่งนั้นๆ…
๑๓.๑ การขาดปัจจัยของกิเลสนั้นๆ ตามธรรมชาติ.
๑๓.๒ ความมาทันเวลาของสติสัมปชัญญะ (ปัญญา).
๑๓.๓ ธรรมเป็นข้าศึกแก่กิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏขึ้น.
๑๓.๔ เวลาว่างจากกิเลส ซึ่งได้ตามธรรมชาติ (เพราะกิเลสมิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา).
๑๔.”กิเลส“ โดยอัสสาทะ: หมายถึงเสน่ห์หรือรสอร่อยที่ยั่วยวนของสิ่งนั้นๆ ซึ่งมีต่อมนุษย์…
๑๔.๑ กิเลสมีเสน่ห์ มีรสอร่อยแห่งความหลอกลวงสูงสุด.
๑๔.๒.กิเลสเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งนันทิราคะทุกชนิด ทุกระดับ.
๑๕.”กิเลส“ โดยอาทีนวะ: หมายถึงโทษหรือความเลวร้ายของสิ่งนั้นๆ
ซึ่งซ่อนอยู่อย่างเห็นได้ยาก…
๑๕.๑ ทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์เป็นคราวๆ.
๑๕.๒ ทำให้มีอาการเหมือนตกนรกเป็นคราวๆ.
๑๕.๓ ทำให้ติดไปกับวงของวัฏฏะ.
๑๕.๔ ทำให้โลกประสบอุปสรรคและความสูญเสีย.
๑๖.”กิเลส“ โดยนิสสรณะ: หมายถึงอุบายหรือวิธีที่จะออกหรือพ้นจากอำนาจของสิ่งนั้นๆ…
๑๖.๑ อริยมรรคมีองค์แปด หรือความเป็นอยู่ที่ถูกต้อง.
๑๖.๒ ความมีศีล สมาธิ ปัญญา อยู่โดยปกติ.
๑๖.๓ การดำรงอยู่หรือมีชีวิตอยู่อย่างที่ไม่ให้โอกาส, ไม่ให้ปัจจัย,
ไม่ให้อาศัย,ฯลฯ แก่กิเลส: เรียกว่า สัมมาวิหาร ซึ่งทำโลกให้ไม่ว่างจากพระอรหันต์”.
๑๗.”กิเลส“ โดยทางปฏิบัติ: หมายถึงทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆเพื่อให้เกิดผลดีตามที่ประสงค์…
เพื่อออกจากการตกเป็นทาสของกิเลส:
๑๗.๑ มีการกระทำที่เป็นการทำลายต้นตอของกิเลส คืออวิชชาอยู่เป็นนิจ.
๑๗.๒ มีสติอยู่ทุกเมื่อ ทุกสถานที่ และทุกกรณี.
๑๗.๓ มีการเป็นอยู่อย่างไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ผู้อื่นและความถูกต้อง.
๑๘.”กิเลส“ โดยอานิสงส์: หมายถึงประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสิ่งนั้นๆ…
ให้บทเรียน ทำให้ฉลาด เอาชนะกิเลสเพื่อลุถึงนิพพาน
๑๙.”กิเลส“ โดยหนทางถลำ: หมายถึงการมีโอกาสหรือความบังเอิญที่ทำให้เกิดความง่ายแก่การปฏิบัติหรือการทำหน้าทีให้สำเร็จ
ได้โดยง่ายยิ่งขึ้น; แต่ในบางกรณีความบังเอิญนี้มีได้แม้ในฝ่ายลบหรือไม่พึงประสงค์…
เข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลของกิเลส
๑๙.๑ ความประมาทปราศจากสติ.
๑๙.๒ ความเป็นอยู่อย่างหละหลวม ปราศจากธรรมเครื่องยึดหน่วง.
๑๙.๓ คบคนพาลเป็นเพื่อนหรือเป็นผู้นำ.
๑๙.๔ อาการชอบทำอะไรตามใจตัว.
๒๐.”กิเลส“ โดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง: ในการเกิดกิเลส หมายถึงปัจจัยหรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ
ที่จะช่วยให้การกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ
เกิดความสำเร็จได้โดยง่ายและโดยเร็วจนถึงที่สุด…
๒๐.๑ ปัจจัยหรืออารมณ์ของกิเลส.
๒๐.๒ อวิชชา ความปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง.
๒๐.๓ ความปราศจากสติ.
๒๐.๔ อนุสัย (ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสในภายใน).
๒๑.”กิเลส“ โดยภาษาคน-ภาษาธรรม: หมายถึงการพูดจาที่จะกล่าวถึงสิ่งๆนั้นมีทางพูดได้เป็นสองภาษา
คือ ภาษาคน และ ภาษาธรรม…
โดยภาษาคน: หมายถึงภาษาคนธรรมดาที่ใช้พูด ซึ่งมักระบุไปยังบุคคลหรือวัตถุภายนอก
ที่เรียกว่าบุคคลาธิษฐาน..
โดยภาษาธรรม:หมายถึงภาษาที่ผู้รู้ธรรมพูด ซึ่งมักระบุไปยังคุณค่าหรือคุณสมบัติ
โดยไม่เล็งถึงบุคคลหรือวัตถุ ที่เรียกกันว่า ธรรมาธิษฐาน…
๒๑.๑ ภาษาคน: ความสกปรกทางวัตถุทางการ ซึ่งมีการชำระด้วยวัตถุ.
ภาษาธรรม: ความสกปรกทางจิตใจ ซึ่งต้องชำระด้วยวิปัสสนาญาณ.
๒๑.๒ ภาษาคน: ดูไม่น่ากลัวหรือเป็นของธรรมดา.
ภาษาธรรม: ยิ่งกว่าน่ากลัว.
ธรรมะวันละคำจากหนังสือธรรมโฆษณ์ อาทิตย์หน้าพบกับคำว่า ขันธ์ เป็นคำต่อไป ครับ