สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดดงน้อย หลวงพ่อมาลัย-ไกรศร
สมัยนั้นมีพราน ๓ คน คือนายพรานทา นายพรานสีดา และนายพรานเทอะ เป็นนักล่าสัตว์ได้มาล่าสัตว์ในป่าดงแห่งนี้ พรานทั้งสามก็ได้สำรวจพื้นที่ดังกล่าวนี้ จึงได้ทราบว่าเป็นพื้นที่สูง เหมาะสำหรับการสร้างหมู่บ้านอยู่อาศัย ส่วนบริเวณรอบนอกนั้นก็เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับทำการเกษตร มีลำธารน้ำไหลจากอ่างซับเหล็กเมื่อถึงฤดูฝน จึงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี้ โดยเรียกชื่อว่า “บ้านดงน้อย” เรื่อยมาตราบถึงปัจจุบันหลังจากนั้นเมื่อมีผู้คนมากขึ้น จึงพากันคิดสร้างสำนักสงฆ์ เพื่อสะดวกแก่การทำบุญ โดยมีชื่อสำนักดังกล่าวว่า “วัดดงน้อย” ตามชื่อของหมู่บ้าน
วิถีชีวิตทางด้านจิตใจของคนสมัยนั้น ก็ยังถูกสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ กล่าวคือ นับถือพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้สร้างศาลประจำหมู่บ้านเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและรำลึกถึงบรรพบุรุษด้วย ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ่อน้ำดังกล่าว ซึ่งบ่อน้ำดังกล่าวนั้นต่อมาได้ผ่านการสำรวจและศึกษาจากทางโบราณคดี จึงได้ทราบว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และแถบบริเวณนี้ ก็ได้มีผู้คนเคยอาศัยอยู่อีกด้วย โดยมีประวัติความเป็นมาดังนี้…
สมัยหนึ่ง มีพระสงฆ์สองรูป เป็นพระธุดงค์ ซึ่งได้ธุดงค์มาในบริเวณดังกล่าว ชาวบ้านในยุคนั้นก็ได้อาราธนานิมนต์ให้ท่านพักอาศัยอยู่ที่นี้ พระรูปที่หนึ่ง ชื่อว่า หลวงพ่อมาลัย อีกรูปหนึ่ง คือ หลวงพ่อไกรศร พระสองรูปนี้ เวลาเดินทางไปที่ใด มักใช้ม้าเป็นพาหนะ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง ผู้คนในหมู่บ้านเพื่อรำลึกถึงท่านทั้งสอง จึงได้พากันสร้างศาลขึ้นหลังหนึ่ง และได้ตั้งชื่อศาลแห่งนี้ว่า “ศาลหลวงพ่อมาลัย-ไกรศร”อาจเป็นบารมีและดวงวิญญาณของท่านทั้งสอง หรือเทพยดาอารักษ์ได้ดลบันดาลให้เกิดเหตุมหัศจรรย์ข้างต้น ทำให้นายพรานทั้งสามได้มาพบเห็นบ่อน้ำแห่งนี้เข้า และพากันตั้งชุมชนที่ชื่อว่า “หมู่บ้านดงน้อย” ขึ้นนั่นเอง
ศาลหลวงพ่อมาลัย-ไกรศร เดิมนั้นตั้งอยู่นอกรั้วของวัด จึงไม่สะดวกในการเข้าไปกราบไหว้ของชาวบ้าน ทางวัดจึงได้ก่อสร้างวิหารขึ้นในเขตวัด และทำพิธีบวงสรวงสักการะและกราบนิมนต์ท่าน รวมถึงอัญเชิญเทพยดาที่ปกปักรักษามาสถิต ณ ศาลแห่งใหม่ที่สร้างขึ้น และเรียกชื่อใหม่ว่า “วิหารหลวงพ่อมาลัย-ไกรศร”ชาวบ้านทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ต่างให้ความเคารพนับถือกันมาก ในความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ทุกๆปีชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดงาน และทำพิธีไหว้ท่านปีละสองครั้ง แต่ยังมิได้มีการกำหนดวันอย่างชัดเจนแต่ต้องเป็นวันข้างขึ้นเท่านั้น กล่าวคือ
ครั้งที่หนึ่ง นิยมจัดในเดือนยี่ (เดือนสอง หรือมกราคม)
ครั้งที่สอง นิยมจัดในเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ คือ “วันวิสาขบูชา” ของทุกปี
ในช่วงทำบุญกลางบ้านนั้น ชาวบ้านจะจัดเลี้ยง และทำการถวาย แด่หลวงพ่อมาลัย และหลวงพ่อไกรศรทุกปี ซึ่งจะมีร่างทรงประทับร่างเฉพาะวันพิธีไหว้เท่านั้น ในวันทำพิธีนั้น ชาวบ้านนิยมจัดหาดนตรีมาบรรเลง เช่น ปี่พาทย์ หรือแตรวง เป็นต้น ทั้งยังมีการรำถวาย จุดประทัด บูชาด้วยบายศรี รวมถึงทำการถวายผลไม้ ขนม นมเนย ด้วย เพื่อทำการขอพร และบูชาหลวงพ่อมาลัย-ไกรศร และเทพยดาอารักษ์
ในด้านความศักดิ์นั้น มิสามารถกล่าวได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล แต่ถ้าท่านมีปัญหาใดก็ไปขอพรจากท่าน หากสำเร็จ พึงแก้บนโดยวัตถุเหล่านี้ เช่น ธูป เทียน พวงมาลัย ผ้าไตร เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดดังที่แจ้งให้ทราบ…
ระเบียบการแก้บน หลวงพ่อมาลัย-ไกรศร
***************
๑. ขนมบัวลอย ๔ ถ้วย
๒. มะพร้าวอ่อน ๒ ลูก
๓. พวงมาลัย ๑ พวง
๔. หมากพลู ๑ คำ ยามวนใบตอง ๑ มวน
๕. ผลไม้ ๙ อย่างๆละ ๑ ผล
๖. ตุ๊กตาช้าง หรือม้า ๑ ตัว
๗. ผ้าไตร ๑ ชุด
๘. มีแตรวง หรือปี่พาทย์ บรรเลง ๑ เพลง
๙. จุดประทัดถวาย ๑๐๘ ลูก
ระเบียบสิ่งของและวันต้องห้ามในการแก้บน
***************
๑. เนื้อสัตว์ทุกชนิด
๒. สุรา ยาเมา
๓. วันที่มีงานศพภายในวัด
๔. วันสงกรานต์
๕. วันพระ
วัดมีกิจกรรมประจำปีดังนี้
งานประจำปีของวัด จัดขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกๆปี ในงานมีมหกรรมดังนี้
-
งานสักการะขอพรหลวงพ่อมมาลัย-ไกรศร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด
-
ทำพิธีสะเดาะเคราะเสริมดวงชะตา แก้อาถรรพ์ชีวิต พระราหูเข้าพระเสาร์แทรก
-
ฝังตะกรุดทองคำ ทั้งชาย-หญิง (มหามงคล)
-
ทอดผ้าป่าสามัคคีประจำปีสมทบทุนบูรณะวัด
*********************